สามย่าน โค-ออป ผนึก ธนาคารกสิกรไทย สานต่อโคเลิร์นนิ่งสเปซ แบ่งปันพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ ในสามย่านมิตรทาวน์ ตอบแทนสังคมด้วยบริการพื้นที่ฟรีให้แก่สมาชิกกว่า 600,000 คนต่อปี สร้างคุณค่า 5 มิติการันตีด้วยเกณฑ์ SROI โดย สมาคมผู้ประเมินมูลค่าทางสังคมไทย
“สามย่าน โค-ออป (Samyan CO-OP)” ร่วมกับพันธมิตร ธนาคารกสิกรไทย และ สมาคมผู้ประเมินมูลค่าทางสังคมไทย เปิดเผยความสำเร็จของสามย่าน โค-ออป พื้นที่แห่งการแบ่งปันเพื่อการเรียนรู้ของทุกคน พร้อมยืนหยัดให้บริการพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน โดยมีธนาคารกสิกรไทยเป็นผู้สนับสนุนตลอดการดำเนินการกว่า 3 ปี ซึ่งมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ (ข้อมูล ณ 31 พ.ค. 2565) ได้แก่
- ผู้ใช้บริการลงทะเบียนใช้พื้นที่รวมกว่า 120,000 คน แบ่งเป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา 60% และเป็นบุคคลทั่วไป 40%
- ผู้ใช้บริการเฉลี่ยต่อเดือนกว่า 50,000 คน (ช่วงเวลาปกติที่ไม่ต้องปิดให้บริการจากการแพร่ระบาดของโควิด-19)
- จัดงานเวิร์คช็อป ติวเข้มด้านวิชาการ เทรนนิ่งด้านวิชาชีพ มากกว่า 250 งาน และมีผู้เข้าร่วมรวมกว่า 12,000 คน
- เกิดชุมชน (Community) ของบุคคล องค์กร หรือหน่วยงานที่ต้องการทำประโยชน์เพื่อสังคมที่แข็งแรง
ในด้านการตอบแทนคืนสู่สังคม สามย่าน โค-ออป ได้เข้าร่วมการประเมินผลตอบแทนทางสังคม (Social Return on Investment: SROI) ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมผู้ประเมินมูลค่าทางสังคมไทย (Social Value Thailand Association) องค์กรระดับสากลที่ทำหน้าที่สนับสนุนการสร้างคุณค่าสังคมผ่านการพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนในประเทศไทย ตามกรอบมาตรฐานดัชนีชี้วัดทางสังคม (ESG Index) ซึ่งครอบคลุมในด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ โดยสมาคมผู้ประเมินมูลค่าทางสังคมไทยได้ประเมินสามย่าน โค-ออปไว้ว่าทุกการลงทุน 1 บาทในสามย่านโค-ออป จะก่อให้เกิดผลตอบแทนทางสังคม 3.5 บาท สามารถแบ่งออกเป็นผลตอบแทนด้านสังคมที่สำคัญ 5 มิติ ดังนี้
- คุณค่าทางสังคมต่อผู้ใช้บริการ (User Value)
ผู้ใช้บริการสามย่าน โค-ออป มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีความมุ่งมั่นตั้งใจเพิ่มมากขึ้น มีความสะดวกในการนัดพบ มีประสิทธิภาพในการนัดพบ มีประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้น มีพื้นที่ทางสังคม และสุขภาพจิตดีขึ้น - คุณค่าทางสังคมต่อชุมชน (Community Value)
สร้างคุณค่าในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนรอบข้างด้วยการเพิ่มพื้นที่ความสะดวกสบาย และปลอดภัยที่เข้าถึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สำหรับคนทุกวัยและพัฒนาให้เป็นชุมชนเพื่อการเรียนรู้ที่แข็งแกร่ง - คุณค่าทางสังคมต่อพันธมิตรทางธุรกิจ (Business Partner Value)
ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพันธมิตรทางธุรกิจและผู้ใช้บริการ รวมถึงทำให้เข้าใจพฤติกรรม และความต้องการของลูกค้าผ่านแอปพลิเคชั่นของสามย่าน โค-ออป ทำให้แบรนด์ของพันธมิตรเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น - คุณค่าทางสังคมต่อพันธมิตรคอนเทนต์ (Content Partner Value)
สามารถจัดงานเทรนนิ่ง เวิร์คช็อป และทอล์ค ได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย มีสถานที่ที่เปิดกว้างโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพิ่มโอกาสในการจัดกิจกรรมและเผยแพร่เนื้อหาหรือคอนเทนต์ที่เป็นประโยชน์กับผู้เข้าร่วม - คุณค่าทางสังคมต่อสามย่าน โค-ออป (Space Value)
สร้างคุณค่าการรับรู้แบรนด์สามย่าน โค-ออป ผ่านการสื่อสาร และกิจกรรม โดยขยายฐานผู้ใช้บริการไปยังชุมชนที่หลากหลายมากขึ้น ช่วยให้เกิดความยั่งยืนทางธุรกิจ
ปิยะวัลย์ สร้อยน้อย ผู้อำนวยการ สามย่านโค-ออป ภายใต้การบริหารของ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย) กล่าวว่า “สามย่าน โค-ออป เชื่อว่าการมีพื้นที่โคเลิร์นนิ่งสเปซ จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการแบ่งปันความรู้ และยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ใช้บริการตั้งแต่เยาวชนตลอดจนคนวัยทำงาน โดยยังได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากธนาคารกสิกรไทย ซึ่งเป็นพันธมิตรที่มีวิสัยทัศน์และแนวคิดในเรื่องการตอบแทนสู่สังคมสอดคล้องกับกลุ่มเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ทำให้โคเลิร์นนิ่งสเปซแห่งนี้ประสบความสำเร็จในการเข้าร่วมการประเมินผลตอบแทนทางสังคม (Social Return on Investment: SROI) ที่จัดโดยสมาคมผู้ประเมินมูลค่าทางสังคมไทย (Social Value Thailand Association) ตอกย้ำถึงวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งและผลักดันพื้นที่สามย่าน โค – ออป ให้เป็นสเปซเพื่อการเรียนรู้อย่างยั่งยืนของทุกคนในชุมชน”
ฐิติภร สิริศรีสกุลชัย ผู้อำนวยการอาวุโส Business Solution Integration Chapter ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า “ความร่วมมือกับศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ในการสนับสนุนสามย่าน โค-ออป เป็นความมุ่งมั่นของธนาคารที่ต้องการมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์และเรียนรู้ในโลกยุคดิจิทัล โดยการผลักดันให้เกิดพื้นที่สาธารณะ (Public Space) สำหรับทุกๆ คนให้ได้มาเรียนรู้ ทำกิจกรรมต่อยอด แลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิด การเรียนรู้ที่หลากหลาย ทำให้สามย่าน โค-ออป เป็นสถานที่พบปะ เรียนรู้ที่ครบวงจรแห่งใหม่ใจกลางเมือง ตอบรับกับโจทย์ทักษะแห่งโลกอนาคตที่ต้องมี ซึ่งสามารถใช้ในโลกของการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิต เช่น ทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง ทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์ ทักษะด้านเทคโนโลยี เป็นต้น”
ในด้านการสร้างผลตอบแทนต่อสังคม สกุลทิพย์ กีรติพันธวงศ์ เลขาธิการ สมาคมผู้ประเมินมูลค่าทางสังคมไทย กล่าวว่า “ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับการวัดคุณค่าทางสังคม ด้วยการประเมินผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (Social Return on Investment: SROI) เพื่อส่งเสริมกระตุ้นให้เกิดการดำเนินงาน กิจกรรม เม็ดเงินการลงทุนที่ไม่เพียงสะท้อนผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ แต่ยังประโยชน์และคุณค่าต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยสำหรับประเทศไทย นับเป็นช่วงเริ่มต้นในการสร้างความตระหนัก ความรู้ความเข้าใจต่อหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคมในการนำเครื่องมือและกรอบแนวคิดมาสู่การพัฒนายกระดับ Impact Performance ขององค์กรต่อสังคม สมาคมฯเชื่อว่าการริเริ่มของสามย่านโค-ออป จึงนับเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจและการนำไปสู่การขยายผลสัมฤทธิ์วงกว้างในสังคมไทยต่อไป”